วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โทรมาตร

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=744453
http://ga.egat.co.th/index.php?option=com_content&task=view&id=505&Itemid=46
ระบบโทรมาตร กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.

ภาพข่าว ระบบโทรมาตร กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.การบริหารและจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำชี นั้น กฟผ. ได้ดำเนินกลยุทธ์และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นด้านการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อระบายให้กับพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูแล้ง แนวทางนี้นอกจากจะมีน้ำให้เกษตรกรใช้ปลูกข้าวนาปีและนาปรังแล้วยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากให้กับพื้นที่ที่อยู่ท้ายเขื่อนได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของอ่างเก็บน้ำ สภาพทางอุทกวิทยาข้อจำกัดต่างๆ ของตัวเขื่อนเอง และระบบแหล่งน้ำที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นกล่าวสรุปโดยรวมได้ว่า กฟผ. บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัยควบคู่กันไป การระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อการชลประทานในช่วงฤดูแล้ง เป็นการระบายน้ำตามที่กรมชลประทานกำหนดแผนความต้องการน้ำมาให้ กฟผ. ดังนั้น การผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการระบายน้ำจากเขื่อนในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นการระบายเพื่อควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การบรรเทาอุทกภัยและความมั่นคงปลอดภัยของตัวเขื่อนเป็นสำคัญ

ภาพข่าว ระบบโทรมาตร กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงต้องมีการติดตามสถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิด จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการมุ่งเน้นเพื่อการบรรเทาอุทกภัยมากเกินไปโดยพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำจนหมด อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทำนองเดียวกันการมุ่งเน้นเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งมากเกินไป ก็จะมีผลให้ขีดความสามารถของอ่างเก็บน้ำในการบรรเทาอุทกภัยลดลงได้เช่นกัน ดังนั้น การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำจึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ มีแบบแผนที่ชัดเจน มาตรการที่ กฟผ. นำมาใช้ในการบริหารและจัดการอ่างเก็บน้ำคือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ

ลักษณะของ Man – Manchine Interface เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถดำเนินการได้ การดำเนินงานเช่นนี้จะต้องติดตั้งระบบตรวจวัดข้อมูลแบบ Real Time Data Collection คือ ระบบโทรมาตร และนำระบบพยากรณ์และเตือนภัย (Flood Forecasting and Warning) รวมทั้งระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Water Management) มาใช้งาน

ระบบโทรมาตร คือ ระบบการตรวจวัดข้อมูลระยะไกลที่สามารถรายงานผลการตรวจวัดได้ทันที (Real-Time Data Collection) ทำให้สามารถทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำควบคู่ไปกับการพยากรณ์น้ำ จะสามารถทราบความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์น้ำล่วงหน้าและใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจระบายน้ำ หรือเก็บกักน้ำเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในเวลาที่จำเป็น และช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณด้านท้ายน้ำ

ภาพข่าว ระบบโทรมาตร กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ในปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 6 ลุ่มน้ำ จำนวน 7 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนบางลาง และ เขื่อนปากมูล และกำลังดำเนินการเพิ่มอีก 2 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง (เขื่อนรัชชประภา) และลุ่มน้ำพรม (เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์) สำหรับการดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบโทรมาตรของ กฟผ. ในอดีตได้ใช้วิธีการจ้างเหมาบุคคลภายนอกดำเนินการ ต่อมาเมื่อมีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น กฟผ. จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน โดยงานที่สามารถดำเนินการเองได้ กฟผ. จะดำเนินการเองและจัดจ้างเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการเองไม่ได้ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน กฟผ. สามารถดำเนินการ
ได้เองทั้งหมด จะมีเพียงการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจวัดและการก่อสร้างอาคารเท่านั้นที่ยังจ้างเหมาภายนอก

นอกจากการติดตั้งระบบโทรมาตรตามเขื่อนต่างๆ แล้ว กฟผ. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสภาพน้ำ (War Room) ขึ้นโดยศูนย์ฯ ดังกล่าว จะเป็นห้องที่จัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้บริหารได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

องค์ประกอบหลักของ War Room คือ มีระบบการติดตามข่าวสารและสถานการณ์แบบ Real Time มีระบบฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เรียกใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว มีทีมงานที่ทำหน้าที่ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร โดยใช้ Software ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง และที่สำคัญคือ มีระบบการนำเสนอที่ทำให้ผู้บริหารได้รับข้อมูลหลายๆ ด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่กองจัดการทรัพยากรน้ำ ฝ่ายสำรวจ และในปี 2554 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นปริมาณมากหลายแห่งด้วยกัน ศูนย์แห่งนี้ได้มีบทบาทในการติดตามสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเสนอให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ ตลอดจนการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปเข้าร่วมประชุมกับหน่วยราชการต่างๆ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กับลุ่มน้ำต่างๆ ที่มีเขื่อนของ กฟผ. ตั้งอยู่ได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น